อาการแพ้กุ้งเป็นยังไง ถ้าแพ้รุนแรงอาจอันตรายถึงชีวิตได้

กุ้งเป็นอาหารทะเลที่หลายคนชอบกิน ร้านหมูกระทะก็มีกุ้งให้กินไม่อั้นได้อย่างที่ใจต้องการ แต่บางคนกินแล้วอาจมีอาการแพ้ เนื่องจากร่างกายตอบสนองต่อโปรตีนในกุ้งอย่างผิดปกติ ซึ่งระดับความรุนแรงของอาการแพ้ จะมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงมากที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น การสังเกตอาการแพ้ของตัวเอง และเรียนรู้วิธีแก้อาการแพ้กุ้งเบื้องต้น จะช่วยลดความรุนแรงของอาการแพ้ได้

อาการแพ้กุ้งคืออะไร ใครเสี่ยงแพ้กุ้งบ้าง

อาการแพ้กุ้งคือ

อาการแพ้กุ้ง คือ การที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อโปรตีนบางชนิดในกุ้งอย่างผิดปกติ โดยระบบภูมิคุ้มกันจะมองว่าโปรตีนในกุ้งเป็นสิ่งแปลกปลอมและอันตราย จึงปล่อยสารฮีสตามีนออกมา ซึ่งสารนี้จะทำให้ร่างกายมีอาการแพ้ต่างๆ เกิดขึ้น จากโครงการวิจัยล่าสุด ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2553 เรื่อง “การศึกษาหาสารก่อภูมิแพ้ที่จำเพาะที่เป็นสาเหตุของการแพ้กุ้งน้ำจืด และกุ้งทะเลที่นิยมบริโภคในคนไทย” ชี้ให้เห็นว่า 

  • กุ้งน้ำจืดที่พบรายงานการแพ้มากที่สุดคือ กุ้งก้ามกราม ซึ่งมีสารก่อภูมิแพ้คือ โปรตีนฮีโมไซยานิน 
  • กุ้งทะเลที่พบรายงานการแพ้มากที่สุดคือ กุ้งกุลาดำ ซึ่งมีสารก่อภูมิแพ้คือ โปรตีนลิพิด บายดิง และโปรตีนแอลฟาแอกตินิน

แต่อาการแพ้อาจเกิดจากกุ้งเพียงชนิดเดียว หรือมากกว่าหนึ่งชนิดก็ได้ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน โดยคนที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะแพ้กุ้งได้มากกว่าคนอื่น มีดังนี้

  • พันธุกรรม: ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ หรือแพ้อาหาร
  • อายุ: แม้ว่าอาการแพ้กุ้งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย แต่มักพบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น
  • การแพ้อาหารทะเลชนิดอื่น: ผู้ที่แพ้อาหารทะเลประเภทอื่น เช่น ปู หอย ก็มีโอกาสแพ้กุ้งสูงขึ้น
  • โรคภูมิแพ้อื่นๆ: ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น โรคหอบหืด หรือผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง อาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นเช่นกัน

ทำไมอยู่ดีๆ ก็แพ้กุ้ง? ประกันติดโล่สรุปให้


เมื่อก่อนก็กินได้ปกติ ทำไมอยู่ดีๆ ก็แพ้กุ้งตอนโต? สาเหตุอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเชื้อแบคทีเรียในร่างกายคือ “ไมโครไบโอม” (Microbiome) หรือการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากความเครียด การเจ็บป่วย หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้

นอกจากนี้ ร่างกายบางคนอาจใช้เวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในกุ้ง การกินกุ้งในปริมาณมากขึ้น หรือบ่อยครั้งขึ้น อาจกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันค่อยๆ เริ่มตอบสนองมากขึ้น จนถึงจุดที่แสดงอาการแพ้ออกมาในตอนโตได้

อาการแพ้กุ้งที่พบบ่อย

อาการและ วิธีแก้แพ้กุ้ง

อาการแพ้กุ้งจะแสดงออกมาได้ตั้งแต่อาการแพ้เล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรง โดยทั่วไปอาการมักเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที หรือภายในสองชั่วโมงหลังจากกินกุ้ง ความรุนแรงของอาการแพ้กุ้ง 6 ระดับ มีดังนี้

  1. ระดับ 0: ไม่มีอาการแพ้ สามารถกินกุ้งได้ตามปกติ
  2. ระดับ 1: อาการเล็กน้อย เช่น อาการแพ้กุ้งคันคอ คันปาก
  3. ระดับ 2: อาการปานกลาง เช่น ผื่นลมพิษ ปวดท้อง คลื่นไส้
  4. ระดับ 3: อาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก บวมที่ลิ้น หรือลำคอ
  5. ระดับ 4: อาการรุนแรงมาก เช่น หายใจติดขัดรุนแรง ความดันโลหิตต่ำ
  6. ระดับ 5: ช็อกแอนาฟิแล็กซิส (Anaphylactic shock) อันตรายถึงชีวิต

เมื่อมีอาการแพ้ ร่างกายจะแสดงอาการออกมาทางผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารดังนี้

อาการทางผิวหนัง

ผื่นแพ้กุ้ง อาการแพ้ทางผิวหนัง เป็นสัญญาณเตือนในขั้นแรกว่าคุณอาจกำลังมีอาการแพ้ ถ้าสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ ควรหยุดกินกุ้งทันที และสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย

  • ผื่นคัน: จะเกิดผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย มีอาการแพ้กุ้งคันตามตัวร่วมด้วย 
  • ลมพิษ: มีผื่นแพ้กุ้งนูนขึ้นมาเหนือผิวหนัง มีสีแดงหรือซีด และมีอาการคัน
  • บวมแดง: อาจเกิดอาการแพ้กุ้งตาบวม บวมบริเวณริมฝีปาก ลิ้น หรือทั่วทั้งใบหน้า

อาการทางระบบทางเดินหายใจ

อาการทางระบบทางเดินหายใจอาจเริ่มจากเล็กน้อย แต่สามารถลุกลามเป็นอันตรายได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเริ่มมีอาการแพ้กุ้งคันคอ มีอาการไอ หายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน และสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย

  • จาม น้ำมูกไหล: คล้ายกับอาการหวัด แต่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังกินกุ้ง
  • หายใจลำบาก: รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจติดขัดมากขึ้น
  • หอบหืด: อาจเกิดอาการหอบหืดกำเริบในผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว

อาการทางระบบทางเดินอาหาร

อาการทางระบบทางเดินอาหารอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำ มักมีอาการดังนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน: อาจเกิดขึ้นทันที หรือภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังกินกุ้ง
  • ท้องเสีย: อุจจาระเหลว อาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
  • ปวดท้อง: อาการปวดบิดในท้อง อาจมีอาการรุนแรงในบางราย

อาการแพ้รุนแรง

อาการแพ้รุนแรงหรือ Anaphylaxis เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษาทันที ถ้าสงสัยว่ากำลังเกิดอาการแพ้รุนแรง ให้โทรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน มักมีอาการดังนี้

  • ความดันโลหิตต่ำ: รู้สึกวิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น
  • หมดสติ: อาจเกิดภาวะช็อก และหมดสติได้
  • หายใจไม่ออก: หลอดลมตีบตัวอย่างรุนแรง ทำให้หายใจไม่ออก

วิธีแก้อาการแพ้กุ้งเบื้องต้น 

เมื่อสังเกตอาการต่างๆ ข้างต้นแล้วสงสัยว่า กำลังมีอาการแพ้กุ้ง ต้องรีบจัดการอย่างถูกวิธี และรวดเร็วที่สุด โดยวิธีแก้อาการแพ้กุ้งเบื้องต้น มีดังนี้

  1. ให้หยุดกินกุ้งทันที เมื่อสงสัยว่ามีอาการแพ้
  2. ใช้ยาแก้แพ้กุ้งประเภท Antihistamine เช่น Cetirizine ช่วยบรรเทาอาการแพ้เล็กน้อยถึงปานกลางได้ และควรกินเมื่อมีอาการเท่านั้น ไม่ควรกินยาแก้แพ้ดักอาการก่อนจะไปกินกุ้งเด็ดขาด!
  3. ประคบเย็นบริเวณที่มีอาการบวมหรือคัน จะช่วยบรรเทาอาการได้
  4. ดื่มน้ำมากๆ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  5. สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ให้รีบไปพบแพทย์

สรุป อาการแพ้กุ้ง อาการแพ้อาหารที่ไม่ควรมองข้าม

อาการแพ้กุ้ง เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม หรือพยายามฝืนกินเพื่อเอาชนะ ความเชื่อที่ว่าการฝืนกินจะช่วยให้หายแพ้นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด และอันตรายเป็นอย่างมาก เพราะอาจนำไปสู่อาการแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย การดูแลสุขภาพที่ดีคือการหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างหาก นอกจากนี้ การทำประกันสุขภาพจะช่วยเพิ่มความอุ่นใจในยามเจ็บป่วย ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษา ให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น

ที่มา: โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

บทความแนะนำ

  • ข้อสอบใบขับขี่พร้อมเฉลย ล่าสุด 2567

    รวมเฉลยข้อสอบใบขับขี่ 2566 อย่างละเอียด ไม่อยากสอบหลายรอบมาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสอบจริงกับแนวข้อสอบใบขับขี่ภาคทฤษฎี 50 ข้อพร้อมเฉลย
    173,459
  • 10 รุ่นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าขายในไทย

    10 รุ่น มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2024 น่าสนใจ ขายในไทย จดทะเบียนได้

    รวม 10 รุ่น มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจดทะเบียนได้ มีขายในไทย 2024 พร้อมแนะนำวิธีเลือกมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้ตอบโจทย์การใช้งาน และการทำประกันรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
    33,749
  • ใบขับขี่ประเภท 2 และใบขับขี่ บ.2 ท.2 ขับรถอะไรได้บ้าง?

    หากขับรถเพื่อขนส่งสินค้าต้องรู้ เพื่อเลือกทำใบขับขี่ประเภท 2 ไม่ว่าเป็นใบขับขี่ บ.2 หรือใบขับขี่ ท.2 ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่อยากโดนปรับ
    28,327