รู้จักอุทกภัย น้ำท่วมขั้นวิกฤติ ที่มักเกิดขึ้นในต่างจังหวัด

ในช่วงหน้าฝน นอกจากที่คุณจะต้องรับมือภัยฝนที่ตกหนักแล้ว สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือน้ำท่วม ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายมหาศาล ในหลายๆ พื้นที่ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมทุกปี โดยเฉพาะในตอนนี้ จ.สุโขทัย ที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงจังหวัดที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขงทางภาคอีสาน ที่ในเวลานี้น้ำใกล้ล้นฝั่งเต็มที ซึ่งมีสาเหตุมาจากฝนที่ตกหนักตลอดทั้งวัน และในหลายปีที่ผ่านมา ฝนตกหนักถึงขั้นเกิดน้ำท่วมฉับพลัน บ้านหลายหลังจมหายวับไปกับตา เพราะมาแบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติที่มักเกิดในต่างจังหวัดอยู่บ่อยๆ

ทำไมต่างจังหวัดน้ำท่วมบ่อย น้ำมาจากไหน

สำหรับสาเหตุการเกิดน้ำท่วมบ่อยๆ ทางภาคอีสานและภาคเหนือบางพื้นที่ ส่วนใหญ่ก็มาจากฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน ในบางจังหวัดเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้น้ำจากหลายพื้นที่ไหลมารวมกัน จนเกิดน้ำท่วมบ่อยมากๆ ซึ่งในหลายๆ แห่งมีระบบระบายน้ำที่ไม่ค่อยดี มีสิ่งของอุดตันตามช่องระบายมากมาย เช่น ใบไม้ ขยะ เศษพลาสติก จึงทำให้น้ำระบายได้ยากกว่าปกติ

ในบางครั้งก็เป็นเพราะแม่น้ำล้นตลิ่ง จนเกิดน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในหน้าน้ำหลาก ยิ่งทางภาคเหนือในพื้นที่ที่เป็นภูเขา ช่วงไหนที่มีทางลาดชัน ยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดน้ำป่าไหลหลากได้ง่าย แถมยังมีปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้น้ำไหลลงมาได้อย่างรวดเร็ว และในบางพื้นที่ก็มีการถมที่เพื่อก่อสร้างบ้านในทางน้ำ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก จนทำให้เกิดน้ำท่วมนั่นเอง

น้ำท่วมถึงขั้นไหนถึงเรียกว่า “อุทกภัย”

น้ำท่วม” ก็คือสภาวะที่น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ต่างๆ จนเกิดความเสียหาย อาจเกิดจากฝนตกหนัก น้ำทะเลหนุน หรือเขื่อนพัง ซึ่งทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือน ไร่นา และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ของชาวบ้าน ซึ่งในภาคอีสานตอนบน ไม่ว่าจะเป็น หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ นครพนม สกลนคร และจังหวัดใกล้เคียง ในหลายๆ ปีที่ผ่านมาบางครั้งก็ท่วมแค่ 5-20 ซม. แต่บางครั้งก็ท่วมจนมิดหลังคาบ้านเลยก็มี

แต่สำหรับคำถามที่ว่าน้ำท่วมถึงขั้นไหนถึงเรียกว่า “อุทกภัย” น้ำท่วมครั้งนั้นจะต้องสร้างความเสียหายรุนแรง ไม่ใช่แค่ท่วมขังธรรมดา แต่ต้องส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในวงกว้าง ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันเป็นไปด้วยความยากลำบาก หรือถึงขั้นต้องอพยพหนีแบบนี้ถึงจะเรียกว่าอุทกภัย

อุทกภัยน้ำท่วม มีกี่รูปแบบ

รูปแบบอุทกภัยน้ำท่วม

คุณรู้หรือไม่ว่าอุทกภัยมีหลายรูปแบบ ซึ่งถูกจำแนกจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น มาดูกันดีกว่าว่าน้ำท่วมแต่ละรูปแบบเป็นยังไง

น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง

น้ำล้นตลิ่งกับน้ำท่วมขัง เป็นปัญหาที่เจอบ่อยมากๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างอุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ศรีสะเกษ ยโสธร หรือในเมืองใหญ่ๆ ที่ระบบระบายน้ำไม่ค่อยดี อาจเป็นเพราะฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน หรือแม่น้ำล้นตลิ่ง ทำให้น้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง ระบายไม่ทัน จนทำให้กลายเป็นสาเหตุการเกิดน้ำท่วม

น้ำท่วมฉับพลัน

น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ถือเป็นภัยธรรมชาติที่อันตรายที่สุด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เร็วมากๆ ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังฝนตกหนัก ส่วนใหญ่แล้วมักเจอในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ภูเขาหรือที่ลาดชัน ยิ่งถ้าภูเขาในบริเวณนั้นป่าไม้ถูกทำลาย น้ำก็จะไหลลงมาได้อย่างรวดเร็ว

แต่บางทีในบางพื้นที่อาจไม่มีฝนตกเลย แต่น้ำกลับมาจากที่อื่นแบบไม่ทันตั้งตัว เช่น เขื่อนแตก หรือฝนตกหนักบนต้นน้ำ เราบอกเลยว่าน้ำท่วมแบบนี้อันตรายมาก เพราะคนส่วนใหญ่มักจะหนีหรืออพยพแทบไม่ทัน สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้ไม่น้อย

ผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วม

น้ำท่วมสร้างความเสียหายโดยตรงให้กับใครหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็น บ้านเรือนเสียหาย ข้าวของพังพินาศ พืชผลทางการเกษตรเน่าเสีย ถนนหนทางถูกตัดขาด การคมนาคมติดขัด บางทีถึงขั้นมีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แถมยังทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร น้ำประปาไม่ไหล ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก

แต่นั่นยังไม่หมด หลังจากน้ำลดก็ยังมีปัญหาตามมาอีกเพียบ ทั้งโรคระบาด เช่น ไข้เลือดออก อาหารเป็นพิษ น้ำกัดเท้า แถมยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งการท่องเที่ยว การลงทุน ราคาสินค้าแพงขึ้น คนตกงาน บางคนถึงขั้นเป็นหนี้เป็นสินเพราะต้องซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย

5 วิธีการรับมือเมื่อเกิดอุทกภัย น้ำท่วมขั้นวิกฤติ

วิธีการรับมือเมื่อเกิดน้ำท่วม

สำหรับใครที่บ้านน้ำท่วมทุกปี หรือมีความเสี่ยงที่จะโดนน้ำท่วม เรามาดู 5 วิธีรับมือเมื่อเกิดอุทกภัย น้ำท่วมขั้นวิกฤติกัน ดังนี้

1. ติดตามข่าวสารน้ำท่วม

สิ่งแรกที่คุณควรทำ คือการติดตามข่าวสารน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ทั้งจากทีวี วิทยุ หรือโซเชียลมีเดียของหน่วยงานราชการ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แล้วก็อย่าลืมบอกต่อคนรอบข้างด้วยล่ะ ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งเตรียมตัวทัน ยิ่งลดความเสียหายได้เยอะ

2. เตรียมอาหาร ของที่จำเป็น

เมื่อคุณติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเตรียมของให้พร้อม เตรียมของไว้ก่อนน้ำท่วมจะดีที่สุด เตรียมอาหารแห้งที่เก็บได้นาน น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค ไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง และของใช้จำเป็นอื่นๆ ให้พอใช้อย่างน้อย 3-7 วัน

3. ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ

โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งสำคัญมากในยามฉุกเฉิน ฉะนั้นอย่าลืมชาร์จแบตให้เต็มไว้ตลอดเวลา หากรู้ว่าบริเวณที่คุณอยู่มีโอกาสเกิดน้ำท่วม แนะนำให้มีแบตสำรองติดตัวไว้เผื่อไฟดับนานๆ ถ้าเป็นไปได้ เราแนะนำให้คุณบันทึกเบอร์ฉุกเฉินไว้ในเครื่อง หากต้องการความช่วยเหลือจะได้ติดต่อได้ทันที

4. ปิดวงจรไฟ ป้องกันการลัดวงจร

น้ำกับไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกันเอาซะเลย ถ้าน้ำกำลังจะท่วมบ้าน คุณควรรีบปิดสวิตช์ไฟหลักของบ้านทันที ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด แล้วยกขึ้นที่สูง ถ้าทำได้ให้ตัดกระแสไฟฟ้าทั้งหมดในบ้าน จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องไฟช็อตหรือไฟไหม้ เพื่อความปลอดภัยของคุณและคนในครอบครัว

5. เตรียมเบอร์ติดต่อ ขอความช่วยเหลือ

สิ่งที่หลายๆ คนมักมองข้าม นั่นก็คือการบันทึกเบอร์ติดต่อของหน่วยงานต่างๆ เอาไว้ในเครื่อง ทำให้ในยามฉุกเฉินหลายๆ ครั้ง ต้องมาวุ่นวายหาเบอร์โทรเพื่อขอความช่วยเหลือ ทางที่ดีบันทึกเบอร์โทรที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น 1784 เบอร์กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ 1669 เบอร์แพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งทั้ง 2 เบอร์นี้ หากเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมขึ้นมา เจ้าหน้าที่ก็พร้อมรอรับสายและรอให้การช่วยเหลือตลอด 24 ชม.

สรุป ทำยังไงให้ได้ผลกระทบจากน้ำท่วมน้อยที่สุด

ถ้าคุณอยากเป็นหนึ่งในคนที่รอดพ้นจากน้ำท่วม แนะนำเตรียมพร้อมไว้ก่อน หากรู้ว่าบ้านที่คุณอาศัยอยู่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสานหลายๆ จังหวัด เช่น สุโขทัย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร มหาสารคาม ที่มักเกิดน้ำท่วมในทุกๆ ปี สิ่งที่คุณควรจะทำ คือติดตามข่าวสารน้ำท่วมตลอดเวลา เตรียมของใช้จำเป็นไว้ให้พร้อม โดยเฉพาะอาหาร น้ำดื่ม และยา ชาร์จมือถือไว้ให้เต็ม ปิดไฟบ้านให้หมด แล้วก็อย่าลืมบันทึกเบอร์ติดต่อฉุกเฉินไว้ด้วย ถ้าทำได้ครบ รับรองว่าคุณจะรับมือกับปัญหาน้ำท่วมได้อย่างแน่นอน



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

บทความแนะนำ

  • ข้อสอบใบขับขี่พร้อมเฉลย ล่าสุด 2567

    รวมเฉลยข้อสอบใบขับขี่ 2566 อย่างละเอียด ไม่อยากสอบหลายรอบมาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสอบจริงกับแนวข้อสอบใบขับขี่ภาคทฤษฎี 50 ข้อพร้อมเฉลย
    173,435
  • 10 รุ่นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าขายในไทย

    10 รุ่น มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2024 น่าสนใจ ขายในไทย จดทะเบียนได้

    รวม 10 รุ่น มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจดทะเบียนได้ มีขายในไทย 2024 พร้อมแนะนำวิธีเลือกมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้ตอบโจทย์การใช้งาน และการทำประกันรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
    33,745
  • ใบขับขี่ประเภท 2 และใบขับขี่ บ.2 ท.2 ขับรถอะไรได้บ้าง?

    หากขับรถเพื่อขนส่งสินค้าต้องรู้ เพื่อเลือกทำใบขับขี่ประเภท 2 ไม่ว่าเป็นใบขับขี่ บ.2 หรือใบขับขี่ ท.2 ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่อยากโดนปรับ
    28,325