เจาะลึก! ความแตกต่างของไมเนอร์เชนจ์กับออนิวก่อนซื้อรถ
ถ้าพูดถึงการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอก หรือสมรรถนะของรถยนต์ หลายคนอาจคุ้นกับคำว่า ไมเนอร์เชนจ์ (Minor Change) และ ออนิว (All New) ที่นิยมกันในกลุ่มรถกระบะแต่งซิ่ง แต่ทั้งสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันมาก ประกันติดโล่จะพาไปทำความเข้าใจอย่างละเอียด เพื่อให้คุณเข้าใจว่าทำไมรถบางรุ่นถึงมีราคาต่างกัน และช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าการปรับเปลี่ยนแบบไหนที่คุ้มค่ากับงบประมาณ และตรงความชื่นชอบของเรามากที่สุด
ไมเนอร์เชนจ์คืออะไร ต่างจากออนิวยังไง
การปรับเปลี่ยน และพัฒนารถรุ่นต่างๆ มักเกิดขึ้นอยู่เสมอในวงการรถยนต์ แต่การเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งจะมีความแตกต่างกันไป ซึ่งไมเนอร์เชนจ์ (Minor Change) และออนิว (All New) เป็นสองแนวคิดหลักในการพัฒนารถยนต์ที่แต่ละค่ายใช้ในการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ ออกมา
ไมเนอร์เชนจ์ (Minor Change) ปรับโฉมรถเดิม
ไมเนอร์เชนจ์ (Minor Change) คือ การปรับโฉมรถรุ่นเดิมยกเว้นในส่วนของตัวถัง เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น เป็นกลยุทธ์ที่ผู้ผลิตรถยนต์นิยมใช้สร้างความน่าสนใจ และกระตุ้นยอดขายให้กับรถรุ่นนั้นๆ โดยไม่ต้องลงทุนมากเท่ากับการออกแบบรถใหม่ทั้งคัน โดยปกติการทำไมเนอร์เชนจ์จะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ปีหลังจากเปิดตัวรถรุ่นนั้นออกมาแล้ว
จุดเด่นของการทำไมเนอร์เชนจ์คือ
- การปรับโฉมภายนอก
มักจะเน้นการปรับโฉมในส่วนของกระจังหน้า ไฟหน้า กันชนหน้า และในส่วนไฟท้าย และกันชนหลัง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ช่วยให้รถดูทันสมัยมากขึ้น โดยไม่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างหลักของตัวถัง
- การปรับโฉมภายใน
อาจมีการปรับเปลี่ยนวัสดุตกแต่งภายใน เพิ่มสีสันใหม่ๆ หรือปรับปรุงระบบมัลติมีเดียให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มขนาดหน้าจอ หรือเพิ่มฟีเจอร์การเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน
- การปรับปรุงเทคโนโลยี
มักมีการเพิ่มเติมระบบความปลอดภัยใหม่ๆ หรือปรับปรุงระบบช่วยขับขี่ให้ทันสมัย เช่น การเพิ่มกล้องมองรอบคัน หรือระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ
- การปรับแต่งเครื่องยนต์
บางครั้งอาจมีการปรับแต่งเครื่องยนต์เล็กน้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือประหยัดน้ำมันมากขึ้น แต่โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์อย่างมีนัยสำคัญ
ทำไมผู้ผลิตรถยนต์ต้องมีการทำไมเนอร์เชนจ์
การทำไมเนอร์เชนจ์เป็นกลยุทธ์สำคัญของผู้ผลิตรถยนต์ในการรักษาฐานลูกค้าเดิม และยังช่วยดึงดูดลูกค้าใหม่ที่ชื่นชอบรถรุ่นนั้นได้อีกด้วย เพราะลูกค้าจะรู้สึกถึงความคุ้มค่าที่ได้ซื้อรถรุ่นเดียวกัน แต่ได้รุ่นที่มีการปรับโฉม และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในราคาเท่าเดิม หรืออาจจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งการทำไมเนอร์เชนจ์ ยังเป็นโอกาสให้ผู้หลิตรถยนต์ได้ทดสอบตลาด ดูการตอบรับจากผู้ใช้รถจริงๆ ทำให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้พัฒนารถรุ่นใหม่ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ออนิว (All New) เปลี่ยนโฉมรถใหม่
ออนิว (All New) คือ การเปลี่ยนโฉมรถใหม่ทั้งคันรวมถึงการออกแบบตัวถัง โดยทั่วไปแล้วจะเกิดขึ้นในทุกๆ 7-10 ปี เพราะจำเป็นต้องใช้เวลาในการวิจัย และพัฒนารถรุ่นใหม่ทั้งคัน ทำให้นานกว่าการทำไมเนอร์เชนจ์ ซึ่งการเปลี่ยนโฉมรถใหม่ หรือที่เรียกว่า Model Change นี้ จะครอบคลุมตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ของรถยนต์ ทั้งเรื่องดีไซน์ และการใช้งานต่างๆ ทำให้การเปิดตัวรถยนต์ที่ใช้คำโฆษณาว่า ออนิว (All New) มักสร้างกระแสในวงการรถยนต์ จึงช่วยกระตุ้นยอดขาย และสร้างการรับรู้แบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดเด่นของการทำออนิวคือ
- การเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งหมด
รถออนิวจะมีการออกแบบภายนอกใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ตัวถัง กระจก ไฟหน้า ไฟท้าย ไปจนถึงล้อและยาง ทำให้รถมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง
- การเปลี่ยนภายในโฉมใหม่
ห้องโดยสารได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด ทั้งในแง่ของการจัดวาง การใช้วัสดุ และการตกแต่ง เพื่อให้ดูทันสมัย และตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น
- เทคโนโลยีล้ำสมัย
มักมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ทั้งในด้านความปลอดภัย ระบบอำนวยความสะดวก และระบบขับเคลื่อน
- การปรับปรุงสมรรถนะ
มักมีสมรรถนะที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในแง่ของกำลังเครื่องยนต์ อัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน อาจมีการพัฒนาเครื่องยนต์รุ่นใหม่ หรือนำเทคโนโลยีไฮบริด และไฟฟ้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการปล่อยมลพิษให้เป็นไปตามเทรนด์ในปัจจุบัน
สรุป ไมเนอร์เชนจ์กับออนิวเลือกแบบไหนดี
สำหรับใครที่ชอบเทคโนโลยีล่าสุด ดีไซน์รถทันสมัย การรอรถรุ่นออนิวอาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ในทางกลับกัน หากคุณต้องการความคุ้มค่า และไม่ได้เน้นเรื่องเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมากนัก การเลือกรถที่ผ่านการทำไมเนอร์เชนจ์ หรือรถรุ่นที่กำลังจะถูกแทนที่ด้วยรุ่นออนิว ก็เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่า แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกซื้อรถแบบไหน อย่าลืมวางแผนทำประกันรถยนต์กับประกันติดโล่ ให้คุณผ่อนค่าเบี้ยประกัน 0% ได้นานสูงสุด 10 เดือน พร้อมคุ้มครองทันทีตั้งแต่จ่ายงวดแรก