การเก็บภาษีรถติด ช่วยแก้ปัญหารถติดกรุงเทพได้จริงไหม
การจราจรติดขัดในกรุงเทพไม่ใช่แค่ปัญหาด้านการเดินทางเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในวงกว้าง ทั้งความเครียด มลพิษทางอากาศ และส่งผลต่อเศรษฐกิจด้วย ภาครัฐจึงมีแนวคิดเรียกเก็บภาษีรถติด ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่หลายประเทศทั่วโลกใช้จัดการปัญหานี้มาแล้วอย่างได้ผล มาทำความเข้าใจกันว่าภาษีรถติดคืออะไร ประชาชนต้องเตรียมตัวจ่ายภาษีนี้ยังไงบ้าง
ภาษีรถติดคืออะไร เริ่มเก็บเมื่อไหร่
ภาษีรถติด หรือค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) คือ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากรถยนต์ที่เข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมือง เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ลดมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM 2.5 และกระตุ้นให้ประชาชนหันไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น
จากการสำรวจพบว่า มีรถยนต์สัญจรในเขตที่จะจัดเก็บภาษีรถติดประมาณ 700,000 คันต่อวัน หากเก็บค่าธรรมเนียมคันละ 50 บาท จะสร้างรายได้ให้กับภาครัฐราว 12,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรายได้เหล่านี้จะนำเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะการซื้อคืนรถไฟฟ้าจากเอกชน เพื่อผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าครองชีพด้านการเดินทางของประชาชนในอนาคต
6 เส้นทางที่คาดว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
ตัวเลขปริมาณจราจรต่อไปนี้ เป็นการเก็บสถิติการจราจรปี 2566 ซึ่งเก็บสถิติช่วงเวลา 07.00 น. – 19.00 น. โดยคาดว่าหากมีการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดอย่างเป็นทางการ คาดว่าปริมาณจราจรที่เข้าสู่ถนนดังกล่าวนี้ จะลดลงจากเดิม
- ทางแยก เพชรบุรี-ทองหล่อ
ช่วงถนนเพชรบุรี และทองหล่อ มีปริมาณจราจร 60,112 คัน/วัน
- ทางแยก สีลม-นราธิวาส
ช่วงถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และถนนสีลม มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน
- ทางแยก สาทร-นราธิวาส
ช่วงถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และถนนสาทร มีปริมาณจราจร 83,368 คัน/วัน
- ทางแยก ปทุมวัน
ช่วงถนนพญาไท และถนนพระรามที่ 1 มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน
- ทางแยก ราชประสงค์
ช่วงถนนราชดำริถนนพระราม 1 และถนนเพลินจิต มีปริมาณจราจร 56,235 คัน/วัน
- ทางแยกประตูน้ำ
ช่วงถนนราชดำริถนนราชปรารภ และถนนเพชรบุรี มีปริมาณจราจร 68,473 คัน/วัน
ภาษีรถติดเรียกเก็บยังไง
การเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจะมุ่งเน้นที่ 6 เส้นทางในเขตใจกลางเมืองข้างต้น และจัดเก็บในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีการสัญจรสูงสุด โดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็นซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนเดินทางไป-กลับจากที่พักและที่ทำงาน สำหรับประเทศไทย รัฐบาลกำลังศึกษารูปแบบการจัดเก็บที่เหมาะสม คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเดือนกันยายนปี 2568
ข้อดีของการเรียกเก็บภาษีรถติดในพื้นที่ใจกลางเมือง
สิงคโปร์ เป็นประเทศแรกที่เก็บภาษีรถติดมาอย่างยาวนาน เป็นต้นแบบให้อีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกนำไปปรับใช้ เช่น ลอนดอน สตอกโฮล์ม และมิลาน โดยหลังจากที่ประเทศดังกล่าวได้มีการเก็บภาษีรถติด ส่งผลดีต่อประชาชน ดังนี้
- ส่งผลให้การจราจรมีความคล่องตัว ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพราะนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังใช้เวลาเดินทางน้อยลงด้วย
- การจราจรที่คล่องตัวยังลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยว ชน ลดการทะเลาะวิวาทบนท้องถนน เพราะผู้ขับขี่มีความเครียดน้อยลง
- การลดลงของปริมาณรถยนต์ ยังส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพอากาศ ช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 จากท่อไอเสีย และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน รวมถึงการลดมลพิษทางเสียงที่รบกวนการใช้ชีวิตของผู้คนในเมือง ทำให้เมืองน่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ข้อจำกัดในการเรียกเก็บภาษีรถติดกรุงเทพ
การจัดเก็บภาษีรถติดกรุงเทพยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่างที่ต้องพิจารณา โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย ที่อาจสร้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเส้นทางหลัก รวมถึงภาระต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้อาจเกิดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่โดยรอบเขตจัดเก็บภาษี และความแออัดที่เพิ่มขึ้นในระบบขนส่งสาธารณะ
การดำเนินการจึงยังมีความท้าทายอยู่มากสำหรับรัฐบาล ทั้งในแง่ต้นทุนการเตรียมการที่สูง ความซับซ้อนของเทคโนโลยี และระบบจัดการต่างๆ
สรุป ภาษีรถติดกรุงเทพ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด
การจัดเก็บภาษีรถติดยังไม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แม้จะเป็นมาตรการที่ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ขับขี่ทุกคนไม่ควรมองข้ามคือ การทำประกันรถยนต์ และไม่ลืมต่อ พ.ร.บ. ทุกปี ที่พร้อมให้ความคุ้มครองครอบคลุมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงที่ยังมีการจราจรหนาแน่นแบบนี้ การมีประกันรถยนต์จะช่วยสร้างความอุ่นใจ และลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนครับ
ที่มา: AMARIN